บานเย็น รากแก่น ศิลปินหมอลำแห่งชาติ
บานเย็น รากแก่น ศิลปินหมอลำแห่งชาติ เป็นรางวัลที่ อยากได้มากที่สุดในชีวิต แม้ว่าตลอดเวลาที่อยู่ในวงการลูกทุ่งหมอลำมาเกือบ 50 ปี จนได้รับการยกย่องให้เป็นถึง “ราชินีหมอลำ” จะมีรางวัลการันตรีคุณภาพการทำงานของเธอมาแล้วมากมาย ทว่าสูงสุดแห่งชีวิตเธอก็อยากได้ชื่อว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ หากแต่เพียงคิดไม่ถึงว่าจะมีวันนี้
เมื่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศรายชื่อ “ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2556” ปรากฏว่า มีชื่อของ พ.ศ. 2556 โดย “บานเย็น รากแก่น” อยู่ด้วย และในที่สุดเธอก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้านหมอลำ) ประจำปี 2556

ประวัติ
นางนิตยา รากแก่น (ชื่อในการแสดง “บานเย็น รากแก่น”) เกิดวันที่ ๑๔ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร จังหวัด อุบลราชธานี ภายหลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นชีวิตหมอลำหลังจากจบการศึกษาประถมปีที่ ๔ โดยเป็นศิษย์ครูหนูเวียง แก้วประเสริฐ ซึ่งเป็นหมอลำกลอนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี ทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งกลอนลำ ท่าฟ้อนรำ จนสามารถขึ้นเวทีแสดงหมอลำกลอนได้ในขณะที่มีอายุเพียง ๑๔ ปี รับงานแสดงหมอลำเป็นอาชีพมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ด้วยความเฉลียวฉลาดในการด้นกลอน มีปฏิภาณไหวพริบ น้ำเสียงไพเราะ รูปร่างหน้าตาดี จึงทำให้เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชม ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ รับงานแสดงในจังหวัดต่างๆ จนได้รับการขนานนามว่า ราชินีหมอลำ เข้าสู่วงการอุตสาหกรรมบันเทิงในปี ๒๕๒๓ ร้องเพลงหมอลำแนวอนุรักษ์และแนวร่วมสมัยบันทึกเสียงเพลงในสังกัดค่ายต่างๆ อาทิ ค่ายเสียงสยาม บริษัทนิธิทัศน์ บริษัทแคนซอ บริษัทท็อปไลน์มิวสิค ผลิตผลงานเพลงออกสู่สาธารณชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของอัลบั้มเพลง มิวสิควิดีโอ และการแสดงคอนเสิร์ตสำคัญๆ มากมาย เป็นศิลปินพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับและยกย่องในพื้นที่สื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง
หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นศิลปินที่แม้จะมีรากฐานมาจากศิลปะการแสดงพื้นบ้านแต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ สนใจในการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของการแสดงเชิงสร้างสรรค์มาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาวิธีการร้องลำที่มีเอกลักษณ์ในการใช้น้ำเสียงลูกเอื้อน การเลือกใช้ดนตรีผสมร่วมกันระหว่างเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานกับเครื่องดนตรีสากลอย่างกลมกลืน การแต่งกายที่ออกแบบตัดเย็บด้วยตนเองจากวัตถุดิบผ้าอีสานจนเกิดรูปแบบแฟชั่นที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นทุกครั้งที่เปิดการแสดง และสร้างสรรค์การฟ้อนรำที่ผสมผสานแม่ท่าโบราณกับนาฏยลีลาที่ออกแบบใหม่ อาทิ ท่าฟ้อนเถาวัลย์ ท่าฟ้อนภมรเคล้า ท่าฟ้อนลมหวน ท่าฟ้อนเหินหรรษ์ ท่าฟ้อนปีกสะบัดน้ำ ท่าฟ้อนลำแพน ฯลฯ
ทำงานอุทิศตนให้กับการยกระดับมาตรฐานหมอลำอย่างจริงจังมา ยาวนานถึง ๔ ทศวรรษ ในฐานะที่เป็นผู้อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะศิลปะเพลงพื้นบ้าน อีสานให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ไปทั่วโลก ประเทศที่เคยเปิดการแสดง อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน อังกฤษ เดนมาร์ก คูเวต ชิลี ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้อุทิศตนเป็นครูผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการขับร้องกลอนลำ และแบบแผนลีลาฟ้อนรำให้แก่ลูกศิษย์ทั้งในสถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
จนเกิดหมอลำรุ่นใหม่และศิลปินนักร้องนักเต้นอีสานออกมารับใช้สังคมเป็นจำนวนมาก ได้รับรางวัลยกย่องเกียรติคุณสำคัญ อาทิ พระพิฆเนศทองพระราชทาน ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน
นางนิตยา รากแก่น จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(การแสดงพื้นบ้าน-หมอลำ) พุทธศักราช ๒๕๕๖

เกียรติคุณที่บานเย็น รากแก่นได้รับ
บานเย็น รากแก่น เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น และเสียสละ ช่วยเหลืองานสังคมและงานราชการต่าง ๆ มากมาย จนทำให้ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ เช่น
- พ.ศ. 2539 รางวัลเกียรติยศ “ผู้อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านดีเด่น” จากสโมสรไลอ้อนส์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2540 เกียรติคุณบัตรจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบันทึกเทป โครงการ “ปีรณรงค์สถาบันเกษตรกรในทศวรรษใหม่”
- พ.ศ. 2542 เกียรติบัตร “ศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) ” จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด สถาบันดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากรในงานเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระพิฆเณศ
- โล่ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากการร่วมงาน “60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- ประกาศเกียรติคุณ จากสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทยให้บานเย็น รากแก่น เป็น “ผู้ร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สาขาการแสดงพื้นบ้าน”
- รางวัล “พระพิฆเณศทองพระราชทาน” ครั้งที่ 4 ประเภทเพลงพื้นบ้านอีสาน ยอดเยี่ยม จัดโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2543 โล่เกียรติคุณ ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง ด้านการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขานาฏศิลป์และการละคร) จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2555 รางวัลเชิดชูเกียรติวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาศิลปกรรม (ขับร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน) จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- พ.ศ. 2556 ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หมอลำ)

ศิลปินหมอลำแห่งชาติ
“นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2556 ได้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 246 คน เสียชีวิตไปแล้ว 101 คน มีชีวิตอยู่ 145 คน โดยศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2556 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย”นายสนธยา กล่าว
นางบานเย็น กล่าวว่า ดีใจมากไม่คิดว่า จะได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ที่ผ่านมาตลอด 47 ปีตั้งใจเผยแพร่ผลงานหมอลำทั้งในและต่างประเทศ หลังจากนี้ ตนตั้งใจว่า จะเปิดโรงเรียนสอนหมอรำ และจะถ่ายความรู้ที่มีทั้งหมดให้แก่ คนใหม่ได้ศึกษาและช่วยสืบทอด

บทความที่น่าสนใจ : หาเงินด้วยเกม Lady Hawk , Kobushi